บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำริดประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสูง 55 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 


" วัดไชยาติการาม"บ้านโพนเมือง ต.ไม้กลอน อ.พนา จ.อำนาจเจริญ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสูง 55 เซนติเมตร ศิลปะสกุลช่างล้านช้างของลาว 

มีผู้รู้ได้เปรียบเทียบพระพุทธรูปองค์นี้ว่าอยู่ในยุคเดียวกับพระพุทธรูปปาง มารวิชัย ที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22-23 หรือราว 300 ปีล่วงมาแล้ว

สำหรับเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปาง มารวิชัยองค์นี้ เริ่มจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพไปปราบนครเวียงจันทน์ โดยให้ท้าวคำผง หรือพระปทุมวรราชสุริยวงศ์เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี เกณฑ์ไพร่พลที่เจนศึกเข้าร่วมทำศึกด้วย ซึ่งชาวบ้านโพนเมืองเป็นนักรบ จึงนำช้างจำนวน 20 เชือก พร้อมไพร่พลรบจำนวนหนึ่งเข้าร่วมปราบปรามนครเวียงจันทน์

ภายหลังได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ส่วนพระพุทธรูปองค์อื่น รวมทั้งทรัพย์สินเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้พระราชทานให้เหล่าขุนศึกนำไปแบ่งปันแก่ไพล่พล

ทำให้ชาวบ้านโพนเมือง ได้รับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางต่างๆ จำนวน 5 องค์ ในจำนวนนี้ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยองค์นี้มาด้วย นอกจากชาวบ้านโพนเมืองได้รับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ใช้ประดิษฐานให้ผู้คนในชุมชน ได้กราบไหว้ ยังได้ตู้เก็บพระไตรปิฎก พร้อมพระไตรปิฎกอักษรธรรม (ตัวอักษรไทยน้อย) จำนวนหลายสิบใบ แต่ปัจจุบันพระไตรปิฎกได้เสียหายทั้งหมด และเหลือตู้เก็บพระไตรปิฎกอยู่ใบเดียว

เมื่อชาวบ้านโพนเมือง ได้พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ได้อัญเชิญประดิษฐานในวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านที่ญาครูขี้หอม หรือญาท่านสังฆราชเจ้าโพนสะเม็กเป็นผู้สร้างขึ้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2483 ญาท่านสอน เจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดไชยาติการาม" เนื่องจากชื่อเดิมไปซ้ำกับวัดอื่นหลายแห่ง ส่วนพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทั้ง 5 องค์ ตั้งประดิษฐานอยู่ในศาลาไม้

นายอำเภอตระการพืชผล ไม่ทราบนาม (อดีตบ้านโพนเมืองอยู่ในเขตปกครองของอำเภอนี้) เห็นพระพุทธรูปประจำวัด จึงได้ขอไปประดิษฐานไว้ที่ว่าการอำเภอ 1 องค์ และไม่ได้นำกลับมาคืนอีกเลย ปัจจุบันจึงเหลือพระพุทธรูปที่ได้มาพร้อมกันเหลืออยู่เพียง 4 องค์

ด้านพุทธคุณของพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระครูสุนทรชัยคุณ เจ้าคณะอำเภอพนา เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน เล่าว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเมื่อกว่า 50 ปีก่อน มีความตั้งใจสร้างโรงเรียนใช้สอนพระเณรและบุตรหลานชาวบ้านโพนเมือง รวมทั้งลูกหลานชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียง จึงได้กราบอธิษฐานขอให้ความตั้งใจสัมฤทธิ์ผล 

ปรากฏว่า การก่อตั้งโรงเรียนสามารถดำเนินการลุล่วงแล้วเสร็จ ทำให้ทุกวันนี้ วัดไชยาติการาม มีโรงเรียนใช้สอนพระเณรในชั้นนักธรรม และสอนกุลบุตรชาวบ้านตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย

สำหรับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย อดีตตั้งประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ ให้ชาวบ้านได้กราบไหว้ทั่วไป ต่อมามีพระผู้ใหญ่ที่มีฝีมือเชิงช่างมาพบเห็น พร้อมกล่าวเตือนให้นำไปเก็บรักษาไม่ให้ถูกโจรกรรม เพราะเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ล้ำค่ามาก จึงนำพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์เก็บรักษาไว้ในที่มิดชิด

ส่วนพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย เคยถูกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี อัญเชิญตั้งประดิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.2536 และวัดได้รับกลับมาเก็บรักษาไว้เมื่อปี พ.ศ.2544

ปัจจุบัน วัดไชยาติการาม จะนำพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พร้อมพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ในรุ่นเดียวกัน ออกให้ประชาชนได้กราบไหว้ในช่วงงานสมโภชเดือนมีนาคมทุกปี

เส้นทางไปวัดไชยาติราม เมื่อเดินทางเข้าถึง อ.พนา ให้ขับรถผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอออกไปทางตำบลไม้กลอนอีก 5 กิโลเมตร จะพบวัดวัดไชยาติราม โดยตลอดทางมีป้ายบอกทางเป็นระยะ และถนนลาดยางตลอดสาย

ดังนั้น ถ้ามีโอกาสเดินทางผ่านไปที่ จ.อำนาจเจริญ จึงควรแวะไปกราบไหว้พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านโพนเมืององค์นี้
อำเภอชานุมานมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ทำให้มีลักษณะทางธรรมชาติและทัศนียภาพของบรรยากาศสองฟากฝั่งโขงที่งดงามน่าประทับใจโดยเฉพาะบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน มีทางเดินเลียบริมฝั่งโขงเป็นระยะทางยาวเหมาะแก่การเดินชมทัศนียภาพ ในช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ พฤษภาคม) จะมองเห็นแก่งกลางแม่น้ำโขง เช่น แก่งตางหล่าง ที่หมู่บ้านศรีสมบูรณ์ใกล้กับตัวอำเภอและแก่งหินขัน ที่บ้านหินขัน (ห่างจากตัวอำเภอไปทางใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร

ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปะอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปีพ.ศ.2508 เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลือง มีนามว่า “พระละฮาย”

หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระขี่ล่าย” หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทำฝายกั้นน้ำเชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ